ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ขั้นตอนพิธีต่างๆที่เจ้าบ้านควรรู้
สวัสดีค่ะคุณผู้ชมวันนี้มีเรื่องราวดีๆเกี่ยวกับ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ขั้นตอนพิธีต่างๆที่เจ้าบ้านควรรู้
มาฝากคุณผู้ชมกันค่ะ
เป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม
นอกจากเหตุผลเพื่อเสริมสิริมงคลให้กับบ้านแล้ว หลายคนเชื่อว่าการ ทำบุญบ้านใหม่ ยังหมายถึงการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกียรติกับเหล่าเทวดา เจ้าที่เจ้าทางที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของผู้อยู่อาศัยนั่นเองค่ะ
นอกจากการขึ้นบ้านใหม่จะเป็นเรื่องของความเชื่อในทางไสยศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว สิ่งนี้ยังเป็นการบอกกล่าวให้ผู้คนรอบด้าน โดยเฉพาะเหล่าเพื่อนบ้านได้เปิดรับเข้ามาทำความรู้จักกันเอาไว้ เมื่อในยามเดือดร้อนจะได้บอกกล่าวขอความช่วยเหลือกันและกันได้สะดวกมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ถือว่าเป็นการสร้างมิตรภาพระหว่างกันของคนในชุมชนให้ได้รู้จักกันเอาไว้ก่อนค่ะ
เริ่มต้นพิธีสำหรับการเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน
ก่อนที่จะเข้าสู่พิธีขึ้นบ้านใหม่ เจ้าของบ้านต้องทำพิธี “เข้าบ้านใหม่” เสียก่อน ซึ่งพิธีจะเริ่มต้นด้วยการให้หัวหน้าครอบครัวหรือเจ้าบ้านเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทั้งหมด ที่สำคัญจะต้องมีการอัญเชิญพระพุทธรูปประจำบ้านให้เข้ามาประดิษฐานเพื่อคอยปัดเป่าภูติผีและสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาภายในบ้านได้ ในขณะอัญเชิญให้ทำการจุดธูปเทียนเพื่อเป็นการบูชา จากนั้นจึงตามด้วยอธิษฐานเพื่อบอกกล่าวแก่องค์พระเพื่อให้ท่านได้ปกป้องคุ้มครองบ้านหลังนี้ให้มีแต่ความสุขความเจริญ ห่างไกลจากสิ่งไม่ดี ให้สมาชิกในครอบครัวมีความปลอดภัยและอยู่เย็นเป็นสุข
บ้านบางหลังก็จะมีการทำพิธีกรรมเล็กๆ นิมนต์พระ 1 รูปมาทำการประพรมน้ำมนต์ที่ผ่านการปลุกเสกตามห้องต่างๆ เพื่อปัดเป่าเอาสิ่งไม่ดีออกไป และช่วยเสริมสิริมงคลอันเป็นความเชื่อสำคัญของคนไทยให้มากขึ้น สุดท้ายอย่าลืมที่จะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เจ้าที่เจ้าทางและเหล่าสัมภเวศีทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณใกล้เคียงด้วย
พิธีกรรมการขึ้นบ้านใหม่
สำหรับรายละเอียดของการขึ้นบ้านใหม่ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมเข้าบ้านใหม่แล้ว พิธีนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำกันทุกบ้านตามความเชื่อ ส่วนพิธีจะเล็กหรือใหญ่โตมโหฬารแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าบ้านเอง แต่ผลลัพธ์ของสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นพิธีเล็กหรือใหญ่ก็ล้วนให้ความหมายที่ดีต่อคนในครอบครัวไม่น้อยไปกว่ากัน บางบ้านมีงบประมาณจำกัดก็ทำแบบง่ายๆ ในครอบครัวแบบไม่ได้ชวนชาวบ้านใกล้เคียงมาร่วมพิธี แต่หากใครมีงบมากและต้องการให้ตัวเองเป็นที่รู้จักของผู้คนในชุมชน ก็สามารถจัดงานเลี้ยงฉลองอย่างใหญ่โต เพื่อสร้างสีสันและความสนุกครื้นเครงให้กับคนอื่นร่วมด้วยก็ได้เช่นกันค่ะ
สิ่งที่ควรเตรียมสำหรับการจัดพิธี เตรียมอุปกรณ์สำคัญอะไรบ้าง?
อุปกรณ์สำคัญในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ได้แก่โต๊ะหมู่บูชา อาสนะพระ ตาลปัตร ขันน้ำมนต์ แป้งเจิม แผ่นทอง สายสิญจน์ เทียนน้ำมนต์ ดอกไม้ ธูปเทียน พานพุ่ม เป็นต้น โดยจัดวางให้เป็นระเบียบถูกที่ถูกตำแหน่งดังนี้
โต๊ะหมู่บูชาพระ ที่จัดเพื่อการแสดงความเคารพในพระรัตนตรัย จะต้องมีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน ทิศการตั้งโต๊ะหมู่ไม่ได้ถูกกำหนดมาแบบตายตัว ควรพิจารณาจากความเหมาะสมของสถานที่โดยวางไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์องค์ที่ 1 และไม่ควรตั้งอยู่ใต้บันได หน้าห้องน้ำ หรือหันไปในมุมอับเป็นต้น
อาสนะ สามารถหยิบยืมจากวัดมาใช้ได้ โดยอาสนะให้จัดวางให้มีระยะห่างพอดี ไม่ชิดติดกันจนเกินไป คำนึงถึงการวางข้าวของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ด้วย (ตาลปัตร พร้อมน้ำดื่ม กระดาษชำระ และกระโถน)
อาหาร แบ่งออกเป็น 3 ชุดได้แก่ ชุดบูชาข้าวพระพุทธ สำหรับพระสงฆ์ตามจำนวน และสำหรับเจ้าที่เจ้าทาง (หรือศาลพระภูมิที่ได้ทำการตั้งวางไว้แล้วของแต่ละบ้าน) ประกอบด้วยข้าว อาหารคาว ผลไม้ ของหวาน และน้ำดื่ม ชุดสำหรับพระพุทธวางไว้ด้านหน้าโต๊ะหมู่ สำหรับภัตตาหารของสงฆ์สามารถแบ่งออกเป็น 2 วง (ในกรณีนิมนต์พระ 9 รูป)
สำหรับเจ้าที่เจ้าทางจัดเป็นสำรับเช่นกันแล้วนำไปวางไว้นอกชายคาบ้าน อาหารที่เป็นมงคลนิยมถวายได้แก่
สำหรับเจ้าที่เจ้าทางจัดเป็นสำรับเช่นกันแล้วนำไปวางไว้นอกชายคาบ้าน อาหารที่เป็นมงคลนิยมถวายได้แก่
ขนมมงคลไทย 5 อย่าง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน และขนมถ้วยฟู
ผลไม้มงคล อย่างกล้วย มะพร้าว สาลี่ ทับทิม และส้ม
ของถวายสังฆทาน สามารถถวายได้ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค ปัจจัย หรือผ้าไตรที่หลายบ้านนิยมถวายร่วมด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล
ต่อมาคือบุคคลที่ควรมีในงานคือผู้อาวุโส โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้เป็นผู้ชายซึ่งจะง่ายต่อการถวายของให้แก่พระและเป็นผู้ถือพระพุทธรูป โดยผู้อาวุโสที่เลือกนั้นจะต้องเป็นคนที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือด้วย ในขั้นตอนที่สำคัญคือจะให้ผู้อาวุโสชายถือพระพุทธรูปเข้าสู่ตัวบ้าน ถือว่าเป็นผู้นำ จากนั้นคนอื่นๆ ให้เดินตามเข้าไป เชื่อกันว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้บ้านที่สร้างเสร็จมีความร่มเย็นเป็นสุข จากนั้นจึงนำเอาพระไปตั้งไว้ยังหิ้งพระที่จัดเตรียมเอาไว้
อุปกรณ์เพื่อการเจิมและการปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ ที่จะทำเป็นขั้นตอนท้ายสุดของพิธี โดยเจ้าของบ้าน (ฝ่ายชาย) ต้องเดินถือขันน้ำมนต์นำพระสงฆ์ไปตามห้องต่างๆเพื่อการปะพรม และปิดท้ายที่การเจิมประตู (ส่วนมากนิยมที่ประตูด้านหน้า) โดยอุปกรณ์ประกอบไปด้วยขี้ผึ้งสำหรับติดแผ่นทอง แผ่นทอง หรืออาจใช้เพียงแป้งเจิมหรือดินสอพองก็ได้
นิมนต์พระกี่รูป?
พระสงฆ์ที่นิมนต์มาควรนิมนต์มาก่อนวันทำบุญไม่น้อยไปกว่า 5 วัน จำนวนพระตามประเพณีนิยมในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่คือเลขคี่ ซึ่งนิยมตั้งแต่ 5, 7 หรือ 9 รูป โดยหากสถานที่จัดงานทำบุญมีพื้นที่มากพอแนะนำให้นิมนต์พระจำนวน 9 รูป จะเหมาะสมที่สุด เพื่อความเป็น สิริมงคล พร้อมด้วยการจัดโต๊ะหมู่บูชา มีผ้าขาว กระถางธูปและเชิงเทียน โดยจัดให้โต๊ะหมู่อยู่ด้านขวาของพระสงฆ์
อย่าลืมก่อนเริ่มพิธีกรรมควรมีการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางบริเวณนั้นว่าจะขอเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อช่วยให้ท่านปกปักรักษา ให้บ้านอยู่เย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง บางบ้านตามชนบทยังมีความเชื่อเกี่ยวกับผีบ้านผีเรือนด้วย โดยเฉพาะตามเสาบ้าน เชื่อกันว่ามีผีสิงห์สถิตอยู่ จึงจะมีการเตรียมกระทงใบตองขนาดเล็ก ใส่อาหารคาวหวาน เหล้า และบุหรี่ตั้งเอาไว้บริเวณเสาเพื่อทำการเซ่นให้ผีบ้านผีเรือนออกมากินอาหาร
ที่สำคัญอย่าลืมจัดให้อาสน์สงฆ์อยู่สูงกว่าเหล่าฆราวาส มีการเตรียมแก้วน้ำ กระโถน และปัจจัยเอาไว้ด้วย โดยทั่วไปก็จะมีการล้อมสายสิญจน์รอบบ้านเอาไว้ในขณะทำพิธี เพื่อให้ภายในบ้านปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย ถือว่าเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์มีการเริ่มต้นจากจุดขององค์พระพุทธรูป เชื่อมต่อไปยังมุมห้อง ใช้การเวียนขวาไปรอบเรือน จากนั้นวกกลับเข้ามาที่ตัวพระพุทธรูปและจบที่บาตรน้ำมนต์ ซึ่งภายในจะมีการจัดเตรียมน้ำสะอาดเอาไว้เพื่อใช้ในขณะช่วงทำพิธีกรรมด้วยค่ะ
เริ่มต้นพิธีขึ้นบ้านใหม่วันไหนดี?
แม้ว่าฤกษ์ที่ดีที่สุดของการทำบุญขึ้นบ้านใหม่จริงๆแล้วก็คือฤกษ์ที่เจ้าของบ้านสะดวก อาจจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เจ้าของบ้านและหมู่ญาติสามารถมารวมตัวกันได้ หากให้ดีควรไปดูฤกษ์ยามกับทางเจ้าอาวาสให้ท่านแนะนำมาด้วย ก็จะดีค่ะ ทว่าบางตำราโบราณยังมีความเชื่อว่าไม่ควรทำในวันเสาร์ (เชื่อกันว่าเป็นวันแห่งโทษทุกข์ รวมถึงดาวเสาร์ยังจัดเป็นดาวแห่งบาปเคราะห์) บางบ้านดูปฏิทินจีนประกอบให้เลือกวันที่ตรงกับวันธงไชย (วันดีหรือวันที่มีฤกษ์ดีที่เหมาะสมกับสิ่งที่ดี ช่วยส่งเสริมให้มีความสุข ความสำเร็จ เช่นการขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน ฤกษ์เข้าหอ ส่งตัว การออกรถใหม่ การเปิดบริษัท โรงงาน เป็นต้น)ค่ะ
บทสวดอะไรที่ต้องเตรียมไว้บ้าง?
บทสวดสำหรับการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ที่เจ้าของบ้านต้องเตรียมนำไว้สวดต่อหน้าพระก็มีตั้งแต่บทบูชาพระรัตนตรัย และ บทกราบนมัสการพระรัตนตรัย บทอาราธนาศีล 5 บทสมาทานศีล บทอาราธนาพระปริต
เตรียมสถานที่อย่างไร?
การจัดสถานที่ก่อนวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาด เก็บสิ่งของต่างๆให้เป็นระเบียบเรียบร้อย กำหนดมุมที่จะจัดวางโต๊ะหมู่บูชา พื้นที่สำหรับสงฆ์ ซึ่งเป็นมุมที่ไม่ควรแขวนหรือประดับภาพใดๆเหนือศีรษะของพระภิกษุสงฆ์
เริ่มพิธีกี่โมง?
ช่วงเวลาการทำบุญขึ้นบ้านใหม่สามารถเลือกว่าจะถวายภัตตาหารเช้าหรือเพล โดยถ้าเป็นการถวายภัตตาหารเช้าให้เริ่มเวลาประมาณ 7.30 น. หรือหากเลือกถวายภัตตาหารเพลก็ควรเริ่มพิธีเวลาประมาณ10.30 น. อย่างไรก็ตามเวลาก็อาจยืดหยุ่นตามศาสนกิจของพระวัดที่เราได้ทำการนิมนต์มาด้วยค่ะ
มีขั้นตอนปฏิบัติของพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่อย่างไร?
เมื่อเราเตรียมสิ่งของ ปัจจัยและบุคคลที่สำคัญๆ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการเริ่มพิธี ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน โดย นิมนต์พระสงฆ์เข้ายังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ถวายน้ำดื่ม สนทนาธรรม และพร้อมเริ่มพิธีการเมื่อถึงเวลาฤกษ์ จุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา ประธานฝ่ายเจ้าบ้านจุดเทียนโดยเริ่มจากด้านขวาของพระพุทธก่อนแล้วจึงตามด้วยเทียนด้านซ้าย และธูป ตามลำดับ กราบพระพุทธ แบบเบญจางค์ประดิษฐ์ ประธานฝ่ายเจ้าบ้าน หรือ มัคทายก กล่าวบูชาพระรัตนตรัย ตามด้วยอาราธนาศีล 5ฝ่ายเจ้าบ้านกล่าวตามพระสงฆ์ด้วยบทสมาทานศีล ฝ่ายเจ้าบ้านกล่าวบทอาราธนาพระปริตร
ประธานฝ่ายเจ้าบ้านจุดเทียนสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึง “อเสวนา จ พาลานัง” ถวายข้าวพระพุทธ ประธานถวายพระพุทธโดยวางภัตตาหารบนโต๊ะหรือผ้าขาวด้านหน้าโต๊ะหมู่ฯ วางให้สูงกว่าอาสนะพระสงฆ์ ประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เจ้าบ้านและแขกเหรื่อช่วยกันประเคน
เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วให้นำจตุปัจจัย ดอกไม้ ธูป เทียน และสังฆทานมาวางรอไว้ที่หน้าพระสงฆ์ทุกรูป เจ้าบ้าน เข้ามาต่อหน้าพระเพื่อยกถวาย หลังจากที่กล่าวคำถวายสังฆทานแล้ว ลาข้าวพระพุทธ ต่อเนื่องด้วยการถวายสังฆทานด้วยบทถวายสังฆทาน พระสงฆ์สวดอนุโมทนา เจ้าบ้านและผู้ร่วมงานกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศล
พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พร้อมทั้งสวดชยันโตฯ พนมมือ รับน้ำพระพุทธมนต์ ตามด้วยการเจิมประตูบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล และประตูของห้องต่างๆ ทุกห้อง โดยเฉพาะห้องนอน มีการประพรมน้ำมนต์ตามห้องที่เจ้าภาพต้องการ รวมไปถึงบริเวณบ้าน ส่วนนอกบ้านอาจจะมีการโปรยทรายเสก ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาะสำหรับบ้านใหม่ที่ไม่เคยได้รับการโปรยมาก่อน แต่หากบ้านไหนเคยทำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำการโปรยอีก
เจ้าบ้านทำการกราบพระรัตนตรัย พระสงฆ์เดินทางกลับ เจ้าบ้านนำจตุปัจจัยขึ้นรถเพื่อส่งพระกลับวัดถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ
ข้อห้ามที่ไม่ควรทำสำหรับการขึ้นบ้านใหม่
สำหรับการขึ้นบ้านใหม่ หลายคนมีความเชื่อที่ผิดๆ หรือมองข้ามบางอย่างไป โดยทั่วไปตามหลักของโหราศาสตร์ ฤกษ์ต้องห้ามที่ไม่ควรจัดงานคือวันเสาร์ ซึ่งถือว่าเป็นวันแห่งความเศร้าเสียใจ เกี่ยวข้องกับบาป เคราะห์กรรมและความโชคร้ายที่จะเข้ามาเยือนได้ ส่วนข้อห้ามเด็ดขาดหลังจากบ้านสร้างเสร็จและยังไม่ได้เริ่มพิธีกรรมใดๆ ไม่ควรเข้าไปทดลองนอนเล่นหรือค้างคืนในทันที แม้กระทั่งการย้ายข้าวของเข้ามาก็ควรรอฤกษ์ยามที่เหมาะสมก่อน ยกเว้นของตกแต่งที่ซื้อมาใหม่เท่านั้นที่สามารถนำเอาเข้าไปตั้งวางได้ แต่ทางที่ดีก็ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งหรือจัดวางสิ่งของในวันเสาร์เป็นดี เพื่อช่วยสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับที่พักอาศัยได้มากที่สุด
แม้ว่าการขึ้นบ้านใหม่จะเป็นเพียงความเชื่อที่สืบทอดกันมา แต่ในปัจจุบันพิธีกรรมเหล่านี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี แม้กาลเวลาจะเดินเข้าสู่โลกของวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยความพึงพอใจและสบายใจของเจ้าบ้าน การจัดงานขึ้นบ้านใหม่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเริ่มต้นชีวิตที่ดีงามภายในบ้านหลังใหม่ได้อย่างมีความสุข
เป็นอย่างไรบ้างค่ะสำหรับ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ขั้นตอนพิธีต่างๆที่เจ้าบ้านควรรู้ คงจะได้รับความรู้และประโยชน์ดีๆกันนะคะ
http://www.baanlaesuan.com/46497/baanlaesuan/newhomeceremony/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น